วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553

บทเพลงเสียดสี

บทเพลงเสียดสี ประชดประชัน ถากถางบุคคล เช่น
( ฮา…เอ้อ…)โลกสาว ( เหอ…) โลกสาวชาวบ้านออก
นมไม่ทันงอก บอกแม่เอาผัว
เดี๋ยวก่อนแล้อีสาว ( เหอ…) ให้ไอบาวหมึงหลบแต่แลงัว
บอกแม่เอาผัว ดอกบัวไม่ทัน... ( เอ้อ..เหอ…) บาน

บทเพลงนิทานพื้นบ้าน

บทเพลงเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้าน ชาดกและวรรณคดีไทย เช่น
( ฮา...เอ้อ...) นางโมรา ( เหอ…) อาบน้ำในสระ
เจ็ดคนพี่น้อง นายพรานมาเห็น
คล้องเอาสุดท้องนางโมรา นายพรานมันพา … (เอ้อ...เหอ…)ไป

บทเพลง

บทเพลงแสดงความรักของแม่ที่มีต่อลูก เช่น
เจ้าเนื้ออุ่น ( เอย…) เนื้อเจ้าละมุนดั่งสำลี
แม่ไม่ให้ใครต้อง เนื้อเจ้าจะหมองศรี
เจ้าคนดี ของแม่คนเดียวเอย
( เผื่อน สุพรรณยศ , สัมภาษณ์ )

ประเภทของเพลงพื้นบ้าน

๑. การแบ่งประเภทเพลงพื้นบ้าน
เพลงพื้นบ้านของไทยมีอยู่มากมายและสามารถแบ่งประเภทได้หลายวิธีดังนี้
เอนก นาวิกมูล (๒๕๒๗ : ๑๗๗-๑๒๐) แบ่งประเภทเพลงพื้นบ้านไว้ ๔ วิธี ได้แก่
๑.๑ แบ่งตามความสั้น-ยาวของเพลง ได้ ๒ พวก คือ
๑.๑.๑ เพลงสั้น ได้แก่ เพลงระบำ เพลงพิษฐาน เพลงสงฟาง เพลงสำหรับเด็กและเพลงแห่นางแมว เป็นต้น
๑.๑.๒ เพลงยาว ได้แก่ เพลงฉ่อย เพลงเรือและเพลงอีแซว เป็นต้น
๑.๒. แบ่งตามรูปแบบของกลอน ได้ ๓ พวก คือ ๑.๒.๑ พวกกลอนหัวเดียว ได้แก่ เพลงฉ่อย ลำตัดและเพลงเทพทอง เป็นต้น
๑.๒.๒ พวกกลอนหัวเดียว แต่เวลาลงเพลงมีการสัมผัสระหว่างสามวรรคท้ายเกี่ยวโยงกัน เช่น เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงขอทานและเพลงแอ่วเคล้าซอ เป็นต้น
๑.๒.๓ พวกที่ไม่ค่อยเหมือนใคร เช่น เพลงเด็ก เพลงระบำ เพลงสงฟาง เพลงเหย่ย เป็นต้น
๑.๓. แบ่งเป็นเพลงโต้ตอบและเพลงธรรมดา
๑.๓.๑ เพลงโต้ตอบ เช่น เพลงฉ่อยและเพลงอีแซว เป็นต้น
๑.๓.๒ เพลงธรรมดา คือเพลงที่นอกเหนือจากเพลงโต้ตอบ อาจร้องคนเดียวหรือร้องพร้อมกัน เช่น เพลงสำหรับเด็ก เพลงชักกระดานและเพลงสงฟาง เป็นต้น
๑.๔ แบ่งโดยใช้เวลาหรือโอกาส ได้ ๒ พวก คือ
๑.๔.๑ เพลงที่เล่นตามเทศกาลและฤดูกาล ได้แก่
หน้าน้ำหรือกฐินผ้าป่า เช่น เพลงเรือและเพลงหน้าใย เป็นต้น
หน้าเกี่ยว เช่น เพลงเกี่ยวข้าวและเพลงสงฟาง เป็นต้น
หน้าตรุษสงกรานต์ เช่น เพลงพิษฐานและเพลงพวงมาลัย เป็นต้น
๑.๔.๒ เพลงที่เล่นทั่วไปโดยไม่จำกัดช่วงเวลา เช่น เพลงสำหรับเด็ก เพลง ขอทาน เพลงฉ่อย เพลงทรงเครื่อง ลำตัดและเพลงอีแซว เป็นต้น
สุกัญญา ภัทราชัย ( ๒๕๓๓ : ๓๔๙ ) แบ่งประเภทเพลงพื้นบ้านไว้ ๘ วิธี ดังนี้
๑.๑ แบ่งตามเขตพื้นที่ เป็นการแบ่งตามสถานที่ที่ปรากฏเพลง อาจแบ่ง กว้างที่สุดเป็นภาค เช่น เพลงพื้นบ้านภาคเหนือ เพลงพื้นบ้านภาคกลาง เพลงพื้นบ้านภาคใต้ หรืออาจแบ่งย่อยลงไปอีกเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล เช่น เพลงพื้นบ้านตำบลเขาทอง อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เพลงพื้นบ้านอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น
๑.๒ แบ่งตามกลุ่มวัฒนธรรมของผู้เป็นเจ้าของเพลง เป็นเพลงพื้นบ้านของกลุ่ม วัฒนธรรมไทโคราช เพลงพื้นบ้านวัฒนธรรมไทเขมร เพลงพื้นบ้านวัฒนธรรมไทลาว เพลงพื้นบ้านกลุ่มไทยพุทธ เพลงพื้นบ้านกลุ่มไทยมุสลิม เป็นต้น
๑.๓ แบ่งตามโอกาสที่ร้อง เป็นเพลงที่ร้องตามฤดูกาลหรือเทศกาล และเพลงที่ร้องเล่นทั่วไปไม่จำกัดโอกาส เพลงที่ร้องตามฤดูกาลหรือเทศกาล เช่น เพลงที่ร้องในฤดูกาลเก็บเกี่ยว ได้แก่ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงสงฟาง (ภาคกลาง) เพลงนา (ภาคใต้) สำหรับเพลงที่ร้องในเทศกาลตรุษสงกรานต์ ได้แก่ เพลงบอก (ภาคใต้) เพลงร่อยพรรษา (กาญจนบุรี) เพลงตร๊จ (สุรินทร์) ส่วนเพลงที่ร้องเล่นได้ทั่วไปไม่จำกัดโอกาส ได้แก่ ซอ (ภาคเหนือ) หมอลำ (ภาคอีสาน) เพลงโคราช เป็นต้น ๑.๔ แบ่งตามจุดประสงค์ในการร้อง เช่น เพลงกล่อมเด็ก เพลงปลอบเด็ก เพลงประกอบการละเล่นของเด็ก เพลงปฏิพากย์ เพลงประกอบการละเล่นของผู้ใหญ่ เพลงประกอบพิธีกรรม และเพลงร้องรำพัน
๑.๕ แบ่งตามความสั้นยาวของบทเพลง ได้แก่ เพลงปฏิพากย์สั้น เช่น เพลงพานฟาง เป็นต้น และเพลงปฏิพากย์ยาว เช่น เพลงฉ่อย เพลงเรือ เป็นต้น ๑.๖ แบ่งตามเพศของผู้ร้อง ได้แก่ เพลงของผู้หญิงและเพลงของผู้ชาย เช่น เพลงสวดสารภัญญ์ของอีสานเป็นเพลงของผู้หญิง เพลงที่ร้องในพิธีกรรมงานศพ เช่น เพลงกาลอ(ภาคใต้) เพลงตุ้มโมง (สุรินทร์) สวดมาลัย (ภาคใต้) เป็นเพลงเฉพาะผู้ชาย เป็นต้น
๑.๗ แบ่งตามจำนวนของผู้ร้อง เป็นเพลงเดี่ยวและร้องหมู่ เช่น เพลงกล่อมเด็ก เพลงพาดควาย (ภาคกลาง) จ๊อย (ภาคเหนือ) เป็นเพลงร้องเดี่ยว เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ เป็นเพลงร้องหมู่ เป็นต้น
๑.๘ แบ่งตามวัยของผู้ร้อง เป็นเพลงเด็ก เพลงผู้ใหญ่ เช่น เพลงจ้ำจี้เป็นเพลงเด็ก ซอ หมอลำ เพลงฉ่อย เป็นเพลงผู้ใหญ่ เป็นต้น

๒. เพลงพื้นบ้านประเภทต่าง ๆในเอกสารนี้จะขอแบ่งประเภทเพลงพื้นบ้านตามจุดประสงค์ของเพลง ดังนี้
๒.๑ เพลงกล่อมเด็ก เพลงกล่อมเด็ก คือเพลงที่ใช้ร้องขับกล่อมเพื่อให้เด็กเกิดความเพลิดเพลินและนอนหลับ เพลงกล่อมเด็กของไทยมีทุกภาค แต่เรียกชื่อต่างกัน ดังนี้ ภาคกลางเรียกว่า “เพลงกล่อมเด็ก” ภาคเหนือเรียกว่า “เพลงอื่อ” หรือ “เพลงอื่อจา” ภาคอีสานเรียกว่า “เพลงกล่อมลูก” หรือ “เพลงนอนสาเด้อ” และภาคใต้เรียกว่า “เพลงชาน้อง เพลงร้องเรือ หรือเพลงน้องนอน”
กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์ (๒๕๓๑ : ๔) สันนิษฐานถึงที่มาของเพลงกล่อมเด็กว่าน่าจะเกิดขึ้นมาจากความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกเป็นเหตุสำคัญ เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ในเรื่องความรักที่มีต่อลูก จึงทำให้มีการปฏิบัติต่อลูกด้วยความเต็มใจ โดยการแสดงออกทั้งกาย วาจาและใจ การอุ้มลูก ให้นมลูกหรือการแกว่งไกวเปลเป็นการแสดงออกทางกาย แล้วแสดงความรู้สึกในใจผ่านน้ำเสียงที่นุ่มนวลอ่อนโยน ซึ่งในระยะแรก ๆ คงเป็นลักษณะของการเปล่งเสียง อือ ๆ ออ ๆ โอ ๆ หรือ อา ๆ อยู่ในลำคอก่อน ต่อมาจึงค่อยเปล่งเสียงเป็น ถ้อยคำง่าย ๆ ที่บ่งบอกถึงความรัก ความเอ็นดู ความห่วงใยและทะนุถนอม ตามภาษาพูดของชนชาตินั้น ๆ

เพลงปฏิพากย์

เพลงปฏิพากย์เป็นเพลงโต้ตอบระหว่างชายและหญิงที่แสดงไหวพริบปฏิภาณในการว่ากลอนกันสดๆ ซึ่งถือเป็นเพลงพื้นบ้านของไทยอันสมบัติของชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตอยู่ในสังคมเกษตรกรรม เพราะวิถีชีวิตของคนไทยดั้งเดิมนั้นจะมีอาชีพกสิกรรม ดังนั้นเพลงหรือการละเล่นต่างๆ มักจะเกี่ยวข้องกับอาชีพด้วย อย่างเช่น เพลงเกี่ยวข้าว เพลงสงฟาง ฯลฯ เล่นเพื่อให้เกิดความสนุก ความเพลิดเพลินขณะทำงาน เพื่อความสามัคคี และเพื่อความเจริญรุ่งเรื่อง เป็นสิริมงคล นอกจากจะเล่นเพลงปฏิพากย์ขณะทำงานแล้ว ก็ยังมีการร้องเพลงปฏิพากย์ในพิธีกรรมต่างๆ ด้วย ซึ่งเพลงปฏิพากย์ของภาคกลางนั้นมีมากมาย จึงเลือกศึกษาบางชนิด ที่เกี่ยวข้อง ใกล้กับวิถีชีวิตของคนไทย และนิยมเล่นกัน ในการศึกษาครั้งนี้จะทำให้ได้รู้จักเพลงปฏิพากย์มากขึ้น โดยเฉพาะลักษณะของเพลงปฏิพากย์ชนิดต่างๆ และความรู้เกี่ยวกับเพลงปฏิพากย์อื่นๆ ซึ่งถือเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมอีกทางหนึ่ง

เพลงพื้นบ้านภาคใต้

เพลงพื้นบ้านภาคใต้ มีอยู่ประมาณ 8 ชนิด มรทั้งการ้องเดี่ยวและการร้องเป็นหมู่คณะ โดยสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
เพลงที่ร้องเฉพาะโอกาสหรือในฤดูกาล ได้แก่เพลงเรือ เพลงบอก เพลงนาคำตัก เพลงกล่อมนาคหรือเพลงแห่นาคเป็นต้น
เพลงที่ร้องไม่จำกัดโอกาส ได้แก่เพลงตันหยง ซึ่งนิยมร้องในงานบวช งานอตางงาน งานขึ้นปีใหม่ และงานมงคลต่าง ๆ เพลงเด็กที่ร้องกล่อมเด็กให้หลับ และเพลงฮูลู หรือลิเกฮูลู ที่เป็นการร้องคล้าย ๆ ลำตัด โดยมีรำมะนา เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะกับบทขับร้องภาษาท้องถิ่นคือภาษามลายูเป็นกลอนโต้ตอบก

เพลงพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เพลงพื้นบ้านตะวันออกเฉียงเหนือ (เพลงพื้นบ้านของภาคอีสาน ) ใช้ร้องเพื่อความสนุกสนานในงานรุ่งเรืองต่าง ๆ สามรถแต่งได้ตามกลุ่มวัฒนธรรม 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มวัฒนธรรมหมอลำ กลุ่มวัฒนธรรมเพลงโคราช และกลุ่มวัฒนธรรมเจรียงกันตรึม ดังนี้
เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมหมอลำ ประกอบด้วยหมอลำและเซิ้งโดยหมอลำ แบ่งการลำและการร้องออกเป็น 5 ประเภทคือ ลำเรื่อง ลำกลอน ลำหมู่ ลำเพลิน และลำผีฟ้า ส่วนเซิ้งหรือคำร้อง จะใช้คำร้องรื่นเริง เช่น การแห่บั้งไฟ การแห่นางแมว การแห่นางด้ง โดยเนื้อเรื่องในการเซิ้งอาจเป็นการขอบริจาคเงินในงานบุญ การเซิ้งอวยชัยให้พร หรือการเซิ้งเล่านิทานชาดกตามแต่โอกาส
เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมเพลงโคราช เป็นเพลงพื้นบ้านที่เล่นกันมานาน ในจังหวัดนครราชสีมา หรือโคราช ซึ่งเนื้อเพลงมีลักษณะเด่นมนการเล่นสัมผัสอักษรและสัมผัสสระทำให้เพลงน่าฟังยิ่งขึ้น และยังมีเสียงร้อง ไช ชะ ชะ ชิ ชาย พร้อมทั้งการรำประกอบแบบเยาะตัวตามจังหวะขึ้นลง ซึ่งเพลงโคราชนี้นิยมเล่นทุกโอกาสตามความเหมาะสม
เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมเจรียงกันตรึม ที่นิยมร้องเล่นกันในแถบจังหวัดที่มีเขตติดต่อกับเขมร ได้แก่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีษะเกษ โดยคำว่ากันตรึม นั้นหมายถึงกลองกันตรึม ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีหลักเวลาตีจะใช้จังหวะเสียงดัง โจ๊ะกันตรึม โจ๊ะตรึม ๆ และเจรียงหมายถึง การขับหรือการร้องเพลงมี 2 แบบคือ เจรียงใช้ประกอบการบรรเลงดนตรีกันตรึม ซึ่งเมื่อขับร้องไปท่อนหนึ่ง ดนตรีกันตรึมก็จะรับและบรรเลงยาว ต่อไปเป็นเจรียงดนตรีใช้ร้องในงาน โดยจะขับร้องไปเรื่อย ๆ และมีดนตรีบรรเลงคลอไปเบา ๆ ซึ่งในการร้องเจรียงนั้นสามารถร้องเล่นได้ทุกโอกาส โดยไม่จำกัดฤดูหรือเทศกาล