วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553

ประเภทของเพลงพื้นบ้าน

๑. การแบ่งประเภทเพลงพื้นบ้าน
เพลงพื้นบ้านของไทยมีอยู่มากมายและสามารถแบ่งประเภทได้หลายวิธีดังนี้
เอนก นาวิกมูล (๒๕๒๗ : ๑๗๗-๑๒๐) แบ่งประเภทเพลงพื้นบ้านไว้ ๔ วิธี ได้แก่
๑.๑ แบ่งตามความสั้น-ยาวของเพลง ได้ ๒ พวก คือ
๑.๑.๑ เพลงสั้น ได้แก่ เพลงระบำ เพลงพิษฐาน เพลงสงฟาง เพลงสำหรับเด็กและเพลงแห่นางแมว เป็นต้น
๑.๑.๒ เพลงยาว ได้แก่ เพลงฉ่อย เพลงเรือและเพลงอีแซว เป็นต้น
๑.๒. แบ่งตามรูปแบบของกลอน ได้ ๓ พวก คือ ๑.๒.๑ พวกกลอนหัวเดียว ได้แก่ เพลงฉ่อย ลำตัดและเพลงเทพทอง เป็นต้น
๑.๒.๒ พวกกลอนหัวเดียว แต่เวลาลงเพลงมีการสัมผัสระหว่างสามวรรคท้ายเกี่ยวโยงกัน เช่น เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงขอทานและเพลงแอ่วเคล้าซอ เป็นต้น
๑.๒.๓ พวกที่ไม่ค่อยเหมือนใคร เช่น เพลงเด็ก เพลงระบำ เพลงสงฟาง เพลงเหย่ย เป็นต้น
๑.๓. แบ่งเป็นเพลงโต้ตอบและเพลงธรรมดา
๑.๓.๑ เพลงโต้ตอบ เช่น เพลงฉ่อยและเพลงอีแซว เป็นต้น
๑.๓.๒ เพลงธรรมดา คือเพลงที่นอกเหนือจากเพลงโต้ตอบ อาจร้องคนเดียวหรือร้องพร้อมกัน เช่น เพลงสำหรับเด็ก เพลงชักกระดานและเพลงสงฟาง เป็นต้น
๑.๔ แบ่งโดยใช้เวลาหรือโอกาส ได้ ๒ พวก คือ
๑.๔.๑ เพลงที่เล่นตามเทศกาลและฤดูกาล ได้แก่
หน้าน้ำหรือกฐินผ้าป่า เช่น เพลงเรือและเพลงหน้าใย เป็นต้น
หน้าเกี่ยว เช่น เพลงเกี่ยวข้าวและเพลงสงฟาง เป็นต้น
หน้าตรุษสงกรานต์ เช่น เพลงพิษฐานและเพลงพวงมาลัย เป็นต้น
๑.๔.๒ เพลงที่เล่นทั่วไปโดยไม่จำกัดช่วงเวลา เช่น เพลงสำหรับเด็ก เพลง ขอทาน เพลงฉ่อย เพลงทรงเครื่อง ลำตัดและเพลงอีแซว เป็นต้น
สุกัญญา ภัทราชัย ( ๒๕๓๓ : ๓๔๙ ) แบ่งประเภทเพลงพื้นบ้านไว้ ๘ วิธี ดังนี้
๑.๑ แบ่งตามเขตพื้นที่ เป็นการแบ่งตามสถานที่ที่ปรากฏเพลง อาจแบ่ง กว้างที่สุดเป็นภาค เช่น เพลงพื้นบ้านภาคเหนือ เพลงพื้นบ้านภาคกลาง เพลงพื้นบ้านภาคใต้ หรืออาจแบ่งย่อยลงไปอีกเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล เช่น เพลงพื้นบ้านตำบลเขาทอง อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เพลงพื้นบ้านอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น
๑.๒ แบ่งตามกลุ่มวัฒนธรรมของผู้เป็นเจ้าของเพลง เป็นเพลงพื้นบ้านของกลุ่ม วัฒนธรรมไทโคราช เพลงพื้นบ้านวัฒนธรรมไทเขมร เพลงพื้นบ้านวัฒนธรรมไทลาว เพลงพื้นบ้านกลุ่มไทยพุทธ เพลงพื้นบ้านกลุ่มไทยมุสลิม เป็นต้น
๑.๓ แบ่งตามโอกาสที่ร้อง เป็นเพลงที่ร้องตามฤดูกาลหรือเทศกาล และเพลงที่ร้องเล่นทั่วไปไม่จำกัดโอกาส เพลงที่ร้องตามฤดูกาลหรือเทศกาล เช่น เพลงที่ร้องในฤดูกาลเก็บเกี่ยว ได้แก่ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงสงฟาง (ภาคกลาง) เพลงนา (ภาคใต้) สำหรับเพลงที่ร้องในเทศกาลตรุษสงกรานต์ ได้แก่ เพลงบอก (ภาคใต้) เพลงร่อยพรรษา (กาญจนบุรี) เพลงตร๊จ (สุรินทร์) ส่วนเพลงที่ร้องเล่นได้ทั่วไปไม่จำกัดโอกาส ได้แก่ ซอ (ภาคเหนือ) หมอลำ (ภาคอีสาน) เพลงโคราช เป็นต้น ๑.๔ แบ่งตามจุดประสงค์ในการร้อง เช่น เพลงกล่อมเด็ก เพลงปลอบเด็ก เพลงประกอบการละเล่นของเด็ก เพลงปฏิพากย์ เพลงประกอบการละเล่นของผู้ใหญ่ เพลงประกอบพิธีกรรม และเพลงร้องรำพัน
๑.๕ แบ่งตามความสั้นยาวของบทเพลง ได้แก่ เพลงปฏิพากย์สั้น เช่น เพลงพานฟาง เป็นต้น และเพลงปฏิพากย์ยาว เช่น เพลงฉ่อย เพลงเรือ เป็นต้น ๑.๖ แบ่งตามเพศของผู้ร้อง ได้แก่ เพลงของผู้หญิงและเพลงของผู้ชาย เช่น เพลงสวดสารภัญญ์ของอีสานเป็นเพลงของผู้หญิง เพลงที่ร้องในพิธีกรรมงานศพ เช่น เพลงกาลอ(ภาคใต้) เพลงตุ้มโมง (สุรินทร์) สวดมาลัย (ภาคใต้) เป็นเพลงเฉพาะผู้ชาย เป็นต้น
๑.๗ แบ่งตามจำนวนของผู้ร้อง เป็นเพลงเดี่ยวและร้องหมู่ เช่น เพลงกล่อมเด็ก เพลงพาดควาย (ภาคกลาง) จ๊อย (ภาคเหนือ) เป็นเพลงร้องเดี่ยว เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ เป็นเพลงร้องหมู่ เป็นต้น
๑.๘ แบ่งตามวัยของผู้ร้อง เป็นเพลงเด็ก เพลงผู้ใหญ่ เช่น เพลงจ้ำจี้เป็นเพลงเด็ก ซอ หมอลำ เพลงฉ่อย เป็นเพลงผู้ใหญ่ เป็นต้น

๒. เพลงพื้นบ้านประเภทต่าง ๆในเอกสารนี้จะขอแบ่งประเภทเพลงพื้นบ้านตามจุดประสงค์ของเพลง ดังนี้
๒.๑ เพลงกล่อมเด็ก เพลงกล่อมเด็ก คือเพลงที่ใช้ร้องขับกล่อมเพื่อให้เด็กเกิดความเพลิดเพลินและนอนหลับ เพลงกล่อมเด็กของไทยมีทุกภาค แต่เรียกชื่อต่างกัน ดังนี้ ภาคกลางเรียกว่า “เพลงกล่อมเด็ก” ภาคเหนือเรียกว่า “เพลงอื่อ” หรือ “เพลงอื่อจา” ภาคอีสานเรียกว่า “เพลงกล่อมลูก” หรือ “เพลงนอนสาเด้อ” และภาคใต้เรียกว่า “เพลงชาน้อง เพลงร้องเรือ หรือเพลงน้องนอน”
กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์ (๒๕๓๑ : ๔) สันนิษฐานถึงที่มาของเพลงกล่อมเด็กว่าน่าจะเกิดขึ้นมาจากความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกเป็นเหตุสำคัญ เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ในเรื่องความรักที่มีต่อลูก จึงทำให้มีการปฏิบัติต่อลูกด้วยความเต็มใจ โดยการแสดงออกทั้งกาย วาจาและใจ การอุ้มลูก ให้นมลูกหรือการแกว่งไกวเปลเป็นการแสดงออกทางกาย แล้วแสดงความรู้สึกในใจผ่านน้ำเสียงที่นุ่มนวลอ่อนโยน ซึ่งในระยะแรก ๆ คงเป็นลักษณะของการเปล่งเสียง อือ ๆ ออ ๆ โอ ๆ หรือ อา ๆ อยู่ในลำคอก่อน ต่อมาจึงค่อยเปล่งเสียงเป็น ถ้อยคำง่าย ๆ ที่บ่งบอกถึงความรัก ความเอ็นดู ความห่วงใยและทะนุถนอม ตามภาษาพูดของชนชาตินั้น ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น